เมื่อคุณแม่ลูกอ่อนอย่างเราต้องมาเป็นเอ็นข้อมืออักเสบ

เมื่อคุณแม่ลูกอ่อนอย่างเราต้องมาเป็นเอ็นข้อมืออักเสบ - Bebeshop

     คุณแม่หลายๆท่านต้องเคยเจอกับอาการเจ็บข้อมือเมื่ออุ้มลูก ไม่ว่าลูกจะตัวหนักหรือเบา แต่หากคุณแม่ต้องอุ้มลูก ยังไงก็ไม่พ้นอาการนี้แน่นอนค่ะ

 

   จริงๆแล้วเมื่อคุณแม่ตั้งครรภ์จะมีฮอร์โมนที่ทำให้เกิดอาการเอ็นอักเสบอยู่แล้ว ฮอร์โมนตัวนี้จะไปทำให้ปลอกหุ้มเส้นเอ็นบวมมากกว่าปกติ เส้นเอ็นจึงมีการเสียดสีกับปลอกหุ้มเอ็นบ่อยๆ ฉะนั้นคุณแม่ในช่วงวัยตั้งครรภ์หรือหลังคลอดใหม่ๆจึงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะพบกับอาการเอ็นอักเสบ

เอ็นข้อมืออักเสบ(De quervain’s tenosynovitis) คืออะไร

การอักเสบของเยื่อหุ้มเอ็นและเส้นเอ็นบริเวณข้อมือด้านหลังฝั่งนิ้วโป้ง

สาเหตุ

  • ความเสื่อมของอายุที่มากขึ้น
  • ฮอร์โมนในหญิงตั้งครรภ์
  • เป็นโรคข้ออักเสบเรื้อรัง เช่น รูมาตอยด์
  • การใช้งานบริเวณข้อมือซ้ำๆบ่อยๆ เช่น การซักผ้า พิมพ์คอมพิวเตอร์ อุ้มลูก

อาการ

  • เจ็บเมื่อขยับนิ้วโป้ง โดยเฉพาะเมื่อขยับนิ้วโป้งไปที่บริเวณกลางฝ่ามือ
  • เจ็บเมื่อกดบริเวณเอ็นใต้รอยต่อข้อมือถัดจากโคนนิ้วโป้งลงมา
  • กล้ามเนื้อที่ยึดข้อต่อกับเอ็นนั้น อาจมีอาการเกร็ง หากลองกดดูกล้ามเนื้อบริเวณนั้นจะแข็งเกร็งเป็นลูก และถ้ามีการอักเสบร่วมด้วย ผิวหนังบริเวณนั้นจะร้อน

การรักษา

>>หากเป็นในระยะแรก

  • พักการใช้งานบริเวณข้อมือข้างที่เป็น ใช้ที่ประคองข้อมือ(Wrist support)อาจใช้ยานวดลดปวด สเปรย์ ฉีดบริเวณที่มีอาการปวด หรือยาทานลดอาการปวด(ปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกร)
  • ในช่วง1-2วันแรกที่มีอาการให้ประคบเย็นครั้งละ15-20นาที ทำวันละ1-2รอบ หลังจากนั้นให้ประคบอุ่นหรือแช่น้ำอุ่น
  • ยืดกล้ามเนื้อเพื่อลดอาการปวด: เอานิ้วโป้งกำไว้ในมือ กดข้อมือลง พร้อมกับยืดเหยียดบริเวณข้อศอกร่วมด้วย ทำเท่าที่ไหว
  • ออกกำลังกายกล้ามเนื้อเพื่อให้กล้ามเนื้อบริเวณมือและข้อมือแข็งแรง(ทำหลังจากอาการปวดลดลง)

 

ตัวอย่างท่าออกกำลังกาย

  • วางข้อศอกตั้งฉากกับลำตัว ทำท่ากำมือ กดข้อมือขึ้น-ลง10ครั้ง หากทำได้คล่องขึ้น อาจเพิ่มความยากโดยการถือขวดน้ำไว้ในมือ
  • กำ-แบมือ หรือ บีบลูกบอลเล็กค้างไว้10วินาที หรือบีบสลับปล่อย10ครั้ง

ข้อควรระวังในการออกกำลังกาย: ทำเท่าที่ไหว ถ้าเจ็บมากขึ้นให้ลดความถี่ในการทำลงก่อน

>>หากเป็นในระยะเรื้อรังหรือมีอาการมาก

  • แพทย์จะพิจารณาฉีดสเตียรอยด์เข้าที่บริเวณปลอกหุ้มเอ็นอักเสบ หรือหากวิธีก่อนหน้านี้ไม่ได้ผลก็จะทำการผ่าตัดขยายปลอกหุ้มเส้นเอ็นเพื่อลดการกดทับ

 

RELATED ARTICLES